พระมเหศวร เนื้อชินเงิน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

[ ชื่อพระ ] พระมเหศวร เนื้อชินเงิน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
[ รายละเอียด ] พระมเหศวร เนื้อชินเงิน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่สมัยโบราณ เดิมชาวบ้านเรียก วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ที่ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ห่างจากเชิงสะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณประมาณ ๒๐๐ เมตร มีองค์พระปรางค์เป็นประธาน และมีเจดีย์รายรอบที่มีสภาพปรักหักพังหมด ประวัติการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ยังเป็นข้อถกเถียง และโต้แย้งกันอยู่ว่า สร้างขึ้นในสมัยใดกันแน่ แม้จะปรากฏหลักฐานเป็นแผ่นลานทองจารึกประวัติการสร้าง ที่พบเมื่อครั้งเปิดกรุในปี ๒๔๕๖ แต่ก็ยังขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากแผ่นลานทองสูญหายและชำรุดไปเป็นจำนวนมาก จากหลักฐานเอกสารแผ่นจารึกต่างๆ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ให้ข้อสันนิษฐานว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้มีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากว่าสร้างในรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๒ (เจ้าสามพระยา พ.ศ.๑๙๖๗-๑๙๙๑) และบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี มาแต่ครั้งโบราณ ในสมัยอู่ทองจำต้องร้าง เพราะภัยสงครามระหว่างไทย-พม่า เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ.๒๓๑๐ ทหารพม่าได้ปล้นสะดมประชาชนคนไทย พร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวไทยไปเป็นเชลยยังเมืองพม่า ชาวสุพรรณที่รักอิสระจึงต้องหนีซอกซอนไปอาศัยอยู่ตามป่าดงพงไพร ทิ้งบ้าน ทิ้งวัด ปล่อยให้รกร้าง ปราศจากผู้คนดูแล เมืองสุพรรณจึงรกร้างไปร่วมร้อยปี กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นับเป็นแหล่งที่ค้นพบพระพิมพ์ที่สำคัญ และได้รับความนิยมสูงหลายต่อหลายพิมพ์ รวมถึงพระพิมพ์หนึ่งในชุดเบญจภาคี คือ พระผงสุพรรณ และอีกพิมพ์หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพล คือ พระมเหศวร นอกจากนี้ยังมีพระพิมพ์สำคัญๆ อีกหลากหลาย อาทิ พระสุพรรณหลังผาน (หลังพระ) พระสุพรรณยอดโถ พระปทุมมาศ พระกำแพงศอก พระท่ามะปรางค์ พระถ้ำเสือ พระอรัญญิก พระร่วงยืน พระร่วงนั่ง พระลีลาพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ ประวัติที่มาของกรุแตก และพบแผ่นลานทอง ที่เล่าขานกันมาคือ มีชาวจีนคนหนึ่งปลูกผักอยู่ใกล้วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดร้าง) วันหนึ่ง ได้ปีนขึ้นไปบนองค์พระปรางค์ แล้วงไปในกรุ ได้พบแก้วแหวนเงินทองเป็นจำนวนมาก จึงขโมยออกมา แล้วหนีไปเมืองจีน ต่อมามีคุณลุงอาชีพพายเรือจ้าง ลงไปในกรุเป็นคนที่ ๒ ได้แผ่นลานทอง และพระกำแพงศอกขึ้นมาหลายองค์ แผ่นลานทองเอาไปหลอมได้ทองราว ๒๐-๓๐ บาท นับเป็นการทำลายหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างน่าเสียดายยิ่ง จากนั้นเมื่อชาวบ้านรู้ข่าวต่างก็แห่กันไปลงกรุ ขนเอาพระเครื่อง พระบูชา ตลอดจนพระกำแพงศอก ไปเป็นจำนวนมาก กว่าทางราชการจะรู้เรื่อง การขุดกรุล่วงเลยไปถึงประมาณ ๑๐ วัน ผู้ว่าราชการเมือง พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูต) ต่อมาเป็น พระยาสุนทรสงคราม จึงตั้งกรรมการขุดกรุขึ้นมาชุดหนึ่ง ได้พระเครื่องพระบูชาเป็นเล่มเกวียน กับลานทอง ๓-๔ แผ่น ส่งไปให้กรมศิลปากร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ทรงแปลอักษรในลานทอง แล้วส่งสำเนาคำแปลกลับมายังผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณ พระมเหศวร จัดได้ว่า เป็นพระที่มีพิมพ์ลักษณะแปลกพิมพ์หนึ่งของพระเครื่องเมืองไทย ที่ขุดพบในกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้ เป็นพระเนื้อ ชินเงิน ศิลปะอู่ทอง เช่นเดียวกับ พระผงสุพรรณ สันนิษฐานว่าเป็นพระที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เมืองอู่ทอง ความแปลกของพระพิมพ์นี้ซึ่งเรียกได้ว่า มีเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย คือ พระเศียรพระมเหศวรหน้าหนึ่ง กับพระเศียรอีกหน้าหนึ่งจะวางกลับกัน หรือสวนทางกัน ด้วยเหตุที่พระเศียร ๒ ด้านวางสวนกลับกันไปมา นักพระเครื่องจึงเรียกพระพิมพ์นี้ “พระมเหศวร” มีบางท่านเข้าใจว่าตั้งชื่อตามชื่อของขุนโจรชื่อดังของเมืองสุพรรณ คือ เสือมเหศวร แต่ข้อเท็จจริงชื่อ พระมเหศวร มีมาก่อนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี ก่อนหน้าที่จะมี เสือมเหศวร เกิดขึ้นในเมืองสุพรรณ ไม่น้อยกว่า ๓๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว พระมเหศวร มีหลายพิมพ์ทรง แบ่งตามขนาดได้เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่พิเศษ หากแยกลงรายละเอียดก็จะได้อีกหลายสิบพิมพ์ ขณะเดียวกัน หากแบ่งตามพระพักตร์ (ใบหน้า) ก็จะได้อีกหลากหลาย อาทิ หน้าอู่ทอง หน้าพระเศียรขนนก หน้าพระเนตรโปน ฯลฯ พระมเหศวร นอกจากจะมีพิมพ์พระเศียรสวนกลับกันคนละหน้าแล้ว ยังมี พิมพ์สวนเดี่ยว คือเป็นพระหน้าเดียว ด้านหลังเรียบ บางองค์ด้านหลังมีลายผ้า นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์ ๒ หน้า โดยมีพระเศียรไปทางด้านเดียวกัน เรียกว่า พิมพ์สวนตรง เหมือนกับพระพิมพ์ ๒ หน้าทั่วๆ ไป บางองค์ด้านหน้าเป็นองค์พระ ด้านหลังเป็นซุ้มระฆัง หรือเป็นพระนาคปรกก็มี จัดเป็นพระพิมพ์พิเศษที่หาได้ยากกว่าปกติ พุทธลักษณะพระมเหศวร หากพิจารณาและวิเคราะห์จากรูปลักษณ์แล้ว พระมเหศวรมีสัณฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตรงกลางของด้านข้าง ทำเป็นรอยเว้าโค้งเข้าหาองค์พระ เป็นลักษณะการออกแบบแม่พิมพ์ที่มีมาแต่เดิม นับเป็นความอัจฉริยภาพของช่างโบราณ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้แตกต่างกันออกไปเดิมๆ ได้อย่างงดงามลงตัว เมื่อดูจากด้านหน้าขององค์พระ บริเวณข้างพระเศียร อันปรากฏเส้นรัศมี หรือที่บางท่านเรียกว่า “เส้นม่าน” มีลักษณะคล้ายปีก หากเมื่อพลิกด้านหลังตรงบริเวณนี้จะเป็นบริเวณส่วนของพระเพลา และฐานของพระอีกด้าน เป็นการวางรูปลักษณ์ได้สัดส่วนลงตัวพอดีของพระทั้งสองด้าน นับเป็นจินตนาการงานศิลป์ชั้นบรมครูอย่างแท้จริง ในการออกแบบพิมพ์ทรงองค์พระได้อย่างงดงามยิ่ง โดยไม่เหมือนกันพระพิมพ์อื่นๆ ที่พบเห็นกันมาก่อน เส้นรัศมี นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ พระมเหศวร ที่มักจะปรากฏให้เห็นเป็นเส้นขีดๆ บริเวณข้างพระเศียรทั้งซ้ายและขวา สองขีดบ้าง สามขีดบ้าง และบางครั้งถึงขั้นระบุว่า ต้องมีจำนวนเท่านั้นเท่านี้เส้น ยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวของแต่ละแบบพิมพ์ การกำหนดกฎเกณฑ์เช่นนั้น อาจจะมีการเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจากจำนวนเส้นรัศมีใน พระมเหศวร ของแต่ละพิมพ์นั้น มีทั้งสองขีด และสามขีด ไม่แน่นอนตายตัว ในจำนวนพระที่มีขีดรัศมีนั้น ลักษณะของขีดและตำแหน่งที่ปรากฏ แม้จะพอประมาณได้ว่า อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างออกไปเช่นกัน รวมไปถึงพระบางองค์ที่ไม่มีเส้นรัศมีเลยก็มี แต่ก็เป็นพระแท้เช่นกัน พระมเหศวร เป็นพระเนื้อชินเงิน ซึ่งเป็นโลหะผสมจากเนื้อตะกั่ว ดีบุก เงิน และปรอท บางองค์ที่แก่ดีบุกองค์พระจะออกผิวพรรณสีขาวคล้ายสีเงิน บางองค์ที่แก่ตะกั่ว องค์พระจะออกสีเทาดำ และบางองค์ที่มีส่วนผสมของตะกั่วค่อนข้างสูง จะปรากฏสนิมแดง (แดงส้ม) ของตะกั่วอยู่ประปรายทั่วองค์พระทั้ง ๒ ด้าน พระมเหศวร เป็นพระยอดนิยมอีกพิมพ์หนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี แม้ว่าช่วงที่พระพิมพ์นี้ขึ้นจากกรุใหม่ๆ สู่สนามพระเครื่อง ได้รับความนิยมน้อยกว่า พระสุพรรณหลังผาน ก็ตาม แต่เนื่องจาก พระสุพรรณหลังผาน มีจำนวนพระขึ้นจากกรุน้อยกว่า ทำให้พบเห็นได้ยากกว่า ขณะเดียวกัน พระมเหศวร มีจำนวนพระมากกว่า และแพร่หลายในวงกว้างกว่า จึงทำให้ พระมเหศวร ได้รับความนิยมมากกว่า จนได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๕ ของ ชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพล เนื้อชิน อันประกอบด้วย พระร่วงหลังรางปืน (หลังลายผ้า) พระหูยาน พระท่ากระดาน พระชินราชใบเสมา และ พระมเหศวร พระพุทธคุณ เยี่ยมยอดด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดมหาอุด โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ถือว่าสุดยอดที่สุด ความนิยมของพระมเหศวรจัดอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการพระเครื่องประเภทเนื้อชินยอดขุนพล ขนาดองค์พระ พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ใหญ่พิเศษ (หน้าใหญ่) กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. สูงประมาณ ๓.๗๕ ซม. พิมพ์กลางและพิมพ์เล็กมีขนาดและรูปทรงย่อมลงมาเล็กน้อย แทบจะดูไม่แตกต่างกันมากนัก พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ (พิเศษ) องค์สวยๆ ระดับแชมป์ ราคาซื้อขายกันอยู่ที่หลักล้านมานานแล้ว พิมพ์อื่นๆ ราคาลดหลั่นลงมาตามสภาพองค์พระ และพระทุกพิมพ์นับวันจะทวีค่าราคาเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เพราะ พระแท้พระสวย หายาก ในขณะที่ พระปลอม มีมากกว่า และระบาดมานานแล้ว ผู้สนใจเช่าหาจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
[ ราคา ] โทรถาม
[ สถานะ ] โชว์พระ